top of page
Search

เมื่อลูกคุณเป็นนักนิยมความสมบูรณ์แบบ - What to do when your child is a perfectionist (only in Thai)

Khun Nunlada

หากคุณกำลังลิงโลดพูดอวดเพื่อนๆ ด้วยความภูมิใจว่าลูกไม่ยอมนอนทั้งคืนเพราะต้องทำโครงงานวิทยาศาสตร์ให้ออกมาเป๊ะที่สุด อาการนี้อาจต้องหยุดคิดสักหน่อยเพราะมันมีเส้นบางๆ ระหว่างเด็กมาตรฐานสูงกับ เด็กที่นิยมความเป็นเลิศหรือพวกรักความสมบูรณ์แบบที่เราต้องระมัดระวัง การที่เด็กๆ มีอาการอาละวาด โวยวาย แบบสุดพลัง ตีอกชกตัว ร้องให้เสียใจทุกครั้งที่ทำอะไรผิดพลาด ถือเป็นปัญหาที่น่ากังวลใจ อาการทำผิดไม่ได้ แพ้ไม่เป็นสามารถส่งผลกระทบทางจิตใจ และพฤติกรรมของเด็กคนนั้นในระยะยาว หรืออาจตลอดทั้งชีวิต ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย



ผู้นิยมความเป็นเลิศหรือพวกรักความสมบูรณ์แบบ คืออะไร

เจ้าแห่งความสมบูรณ์แบบมักตั้งเป้าหมายที่ไม่เป็นจริงให้กับตนเอง และจะกดดันตัวเองเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เกินจริงนั้น สำหรับพวกเขา มันคือการที่ต้องทำให้ออกมาดีที่สุด หรือไม่ก็ไม่ยอมทำอะไรเลย แต่เมื่อประสบความสำเร็จ พวกเขาก็จะไม่สามารถมีความสุขกับความสำเร็จนั้นได้ เพราะมัวแต่คิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา หรือได้มาเพราะโชคช่วย


อันตรายจากการเป็นเจ้าแห่งความสมบูรณ์แบบ

  • การกลัวความผิดพลาดดึงให้เด็กไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่กล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ

  • เด็กที่เป็นเจ้าแห่งความสมบูรณ์แบบมักแอบซ่อนความเจ็บปวดทางจิตใจและความกังวลใจต่างๆ ไว้ไม่ให้ใครเห็นเพราะต้องการรักษาภาพลักษณ์ความสมบูรณ์แบบไว้

  • ความเครียดอันเนื่องมาจากความวิตกกังวล การกลัวความล้มเหลวมักนำไปสู่ปัญหาทางจิต เช่นโรคซึมเศร้า ความวิตกกังวล และอาการทางจิตอื่นๆ ในที่สุด


อาการทำผิดไม่ได้ แพ้ไม่เป็นของเด็กรักความสมบูรณ์แบบ เป็นอย่างไร

  • ทำงานไม่เสร็จสักที เพราะสิ่งที่ทำไม่เคยดีพอ (ไม่สมบูรณ์แบบสักที!)

  • ผลัดวันประกันพรุ่ง หลีกเลี่ยงงานยากๆ

  • ระมัดระวังเกินกว่าเหตุ กลัวความผิดพลาด

  • ชอบตัดสินตนเอง หรือชอบวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น

  • ตั้งเป้าหมายเกินจริง และอารมณ์เสีย หงุดหงิดเมื่อทำตามเป้าหมายนั้นไม่ได้

  • รับคำวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้

  • ไม่ยืดหยุ่น เชื่อว่าปัญหานั้นๆ มีทางออกแค่ทางเดียวเท่านั้น

  • ตัดสินใจไม่เป็น หรือเรียงลำดับความสำคัญไม่ได้


ปัจจัยที่เอื้อให้เกิดพฤติกรรมการรักความสมบูรณ์แบบ

  • ความกดดันด้านการเรียน – เด็กคิดว่าต้องมีผลการเรียนเป็นเลิศเพื่อประสบความสำเร็จในชีวิต

  • ปัจจัยทางชีวภาพ – ความเจ็บป่วยทางจิต เช่นกลุ่มอาการย้ำคิดย้ำทำ ปัญหาพฤติกรรมด้านการกินที่ผิดปกติ

  • ปรารถนาที่จะเป็นที่รัก –พร่องความรัก การชื่นชม หรือต้องการช่วยลดความเครียดของพ่อแม่ หรือเพื่อเรียกร้องความสนใจ

  • ขาดความนับถือตนเอง – ไม่เคยพอใจในตนเอง มองเห็นแต่ข้อบกพร่องของตนเอง ไม่เชื่อว่าตนเองดีพอ

  • พ่อแม่รังแกฉัน – พ่อแม่สร้างความเชื่อผิดๆ ให้ลูกด้วยการตอกย้ำว่าลูกฉลาดที่สุด เก่งที่สุด จนกลายเป็นการสร้างความเชื่อให้ลูกว่าการทำผิดเป็นเรื่องไม่ดี หรือทำผิดไม่ได้ ลูกจึงต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเสมอถึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จ

  • อิทธิผลจากพ่อแม่นักนิยมความสมบูรณ์แบบ – พ่อแม่ที่เป็นคนรักความสมบูรณ์แบบ มักเลี้ยงลูกที่นิยมความสมบูรณ์แบบผ่านพฤติกรรมการเลียนแบบ หรือการได้รับยีนนิยมความสมบูรณ์แบบจากพ่อแม่

  • อิทธิพลจากสื่อ – สื่อสังคมมักสร้างภาพลักษณ์ของดารา หรือนักกีฬาที่มีชื่อเสียงว่ามีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ การประโคมข่าวความผิดพลาดที่นำไปสู่ความล้มเหลวในชีวิตสร้างความเข้าใจผิดให้กับเยาวชนว่าพวกเขาต้องทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ ผิดพลาดไม่ได้

  • ภาวะความชอกช้ำทางจิตใจ – ประสบการณ์การถูกทำร้ายทางจิตใจอาจสร้างความรู้สึกว่าไม่เป็นที่รัก หรือไม่เป็นที่ต้องการหากพวกเขาไม่สมบูรณ์แบบ


แนวทางการแก้ไขพฤติกรรมเจ้าแห่งความสมบูรณ์แบบ

  • ช่วยกันสร้างความนับถือตนเองให้เด็กๆ – ชวนเด็กทำกิจกรรมที่ช่วยสร้างความภาคภูมิใจให้ตนเอง สร้างตัวตนให้พวกเขารู้สึกดีกับตัวเอง ไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่เขาทำและประสบความสำเร็จ การเป็นอาสาสมัคร การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การทำงานศิลปะที่ช่วยกระตุ้นให้พวกเขามีมุมมองที่เป็นมิตรกับตนเอง

  • ช่วยเด็กๆ ระบุสิ่งที่ควบคุมได้และสิ่งที่ควบคุมไม่ได้- ชวนเด็กๆ มองสิ่งที่เขาทำอยู่ด้วยมุมมองที่หลากหลาย เช่นเขาอาจควบคุมเทคนิคการเล่นบาสเกตบอลของตนเองได้ หรือควบคุมการทำข้อสอบวิชาชีวฯได้ แต่พวกเขาควบคุมการออกข้อสอบของครูหรือการเล่นบาสเกตบอลของเพื่อนคนอื่นๆ ไม่ได้

  • การสนทนากับตนเองอย่างสร้างสรรค์ – เด็กๆ สามารถพัฒนาทักษะการสนทนากับตนเองอย่างมีเมตตาได้ การคุยกับตัวเองดังๆ ด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนมีเมตตาแทนที่จะมุ่งตำหนิตนเองนั้นช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้การให้อภัยตนเอง การแสดงให้ลูกเห็นว่าเราเองก็ผิดพลาดได้และเราก็ให้อภัยตนเองได้ช่วยคลายทุกข์เรื่องการกลัวความล้มเหลว

  • หมั่นตรวจสอบความคาดหวังของตนเอง – อย่าโยนความคาดหวังของตนเองมาไว้บนบ่าลูก ช่วยลูกสร้างเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นไปได้ หากลูกต้องการเลิกกลางคันหรือท้อแท้ พ่อแม่สามารถชวนคุยกับลูกเพื่อหาสิ่งที่ลูกต้องการหรือไม่ต้องการที่จะทำ โดยหาทางออกที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับร่วมกันได้

  • ชมลูกที่ความพยายามมากกว่าผลลัพธ์ที่ปลายทาง – ให้ความสำคัญกับกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ที่ได้ เช่นแทนที่จะชมลูกว่าเก่งจังที่สอบได้ ๑๐๐ คะแนนเต็ม ควรชมเขาว่ามีความพยายามในการเรียน และชื่นชมที่ลูกเป็นคนมีจิตใจดี และเป็นเพื่อนที่ดี เพื่อชี้ให้เห็นว่าการเรียนเก่งไม่ใช่คุณสมบัติของการประสบความสำเร็จในชีวิต และไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต

  • เล่าเรื่องความล้มเหลวของตนเองให้ลูกฟัง – แบ่งปันประสบการณ์ความล้มเหลวของตนเองเพื่อสอนลูกให้รู้จักวิธีการจัดการความผิดพลาดจากประสบการณ์ของพ่อแม่

  • สอนให้ลูกล้มเป็น –ความล้มเหลวอาจเป็นความรู้สึกที่หดหู่ แต่มันก็ใช่ว่าจะเกินทน การพูดคุยกับเพื่อน การเขียนบันทึกประจำวัน และการวาดภาพช่วยรับมือความผิดพลาดของตนเองได้อย่างสร้างสรรค์

Suggested additional reading:

No-Drama Discipline
Raising a Secure Child
The Yes Brain


 
 
 

Comments


  • Visit us on Facebook
  • Take a look at what Phumdham is like!

Contact Us

Address

© Copyright 2020 -

Phumdham Primary Learning Center

Tel: 097-107-5407

Email: contact@phumdham.com

13/2 ม.5 ถ.ศาลาธรรมสพน์ 42 แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา
10170 Bangkok, Thailand

Maps: 13.800110, 100.362962

bottom of page